โรคไตเรื้อรัง เป็นปัญหาระดับโลก รวมถึงประเทศไทย พบว่า 17% ของประชากรมีภาวะไตทำงานผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที จะนำไปสู่ภาวะไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการบำบัดทดแทนไตถึง 60,000 คนต่อปี และต้องใช้งบประมาณในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ ราว 10,000 ล้านบาทต่อปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก ดังนั้น การปลูกถ่ายไต ด้วยการนำไตจากผู้อื่น ที่ผ่านการตรวจแล้วว่าเข้ากันได้ ให้มาทำหน้าที่แทนไตเก่าของผู้ป่วยที่สูญเสียไปอย่างถาวร เพื่อให้ผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนปกติ ไม่จำเป็นต้องฟอกไต หรือ ล้างไต จึงเป็นแนวทางการรักษาดีที่สุด
นพ.ปรัชญา พุมอุทัยวิรัตน์ แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรมโรคไต รพ.จุฬาภรณ์ ฉายภาพให้เห็นถึงความน่ากลัวของโรคไตเรื้อรังว่า อยู่ในกลุ่มโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่นเดียวกับโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหลอดเลือดในสมอง โดยโรคไตเรื้อรัง มีสาเหตุหลักมาจาก 1) การถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคถุงน้ำที่ไต 2) เกิดจากโรคอื่นที่มากระทบ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือ การใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อไต เช่น ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่กลุ่มสเตียรอยด์ สมุนไพรบางชนิด และอาหารเสริมที่มีผลต่อไต รวมไปถึงพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีรสเค็ม
ทั้งนี้ ความรุนแรงของโรคไตเรื้อรัง แบ่งเป็น 5 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1-2 การทำงานของไตลดลงเล็กน้อย อาจจะมีการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ แต่ยังไม่มีอาการอื่นๆ มากนัก ดังนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยังไม่รู้ตัว ยกเว้นกลุ่มที่มีการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เมื่อเข้าสู่ระยะ 3-4 ผู้ป่วยจะเริ่มมีภาวะความดันโลหิตสูง มีอาการตัวบวม เพราะร่างกายขับน้ำและเกลือแร่ส่วนเกินได้ยากขึ้น รวมถึงมีภาวะฮอร์โมนบางชนิดที่ขาดหายไป เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 5 ที่การทำงานของไตลดลงเหลือไม่ถึง15% ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด และมีภาวะน้ำเกินในร่างกาย ทำให้หายใจลำบาก
ปัจจุบันมีแนวทางการบำบัดทดแทนไต 4 วิธี ได้แก่ 1) การฟอกเลือดด้วยเครื่องฟอกไตเทียม 2) การล้างไตทางช่องท้อง 3) การปลูกถ่ายไต และ 4) การรักษาแบบประคับประคองเป็นวิธีสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับการรักษา 3 แบบข้างต้น
ผู้ป่วยที่จะสามารถเข้ารับการปลูกถ่ายไตได้ ต้องเป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายเท่านั้น และต้องผ่านกระบวนการตรวจคัดกรองจากคณะกรรมการสหสาขาวิชาชีพในศูนย์ปลูกถ่ายไตของแต่ละโรงพยาบาลว่า ไม่มีโรคที่รุนแรงและเป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัด ไม่เป็นมะเร็งที่ยังรักษาไม่หายขาด ไม่มีการติดเชื้อที่ยังรักษาไม่หายขาด ไม่มีการติดเชื้อ HIV และ ไม่ป่วยทางจิต
สำหรับไตที่จะนำมาปลูกถ่ายได้มาจาก 2 รูปแบบ 1) ผู้บริจาคที่มีชีวิต โดยต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือเป็นสามีภรรยาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย หรือมีบุตรที่รับรองร่วมกัน โดยผู้บริจาคต้องมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ และแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าหากบริจาคไตแล้ว ไตอีกข้างจะสามารถทำงานทดแทนไตที่บริจาคได้ 2) ผู้บริจาคที่เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย ซึ่งในทางกฎหมายและทางการแพทย์ถือว่าเป็นผู้เสียชีวิตแล้ว แต่ไตยังทำงานได้ดี โดยผู้ที่จะรับบริจาคต้องได้รับการจัดสรรจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย
“การปลูกถ่ายไตนั้น จะใช้วิธีผ่าตัดนำไตที่ปกติ 1 ข้างจากผู้บริจาค มาปลูกถ่ายไว้บริเวณหน้าท้องของผู้ป่วย โดยที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดนำไตเดิมออก ดังนั้น หลังการปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยจะมีไตอยู่ด้วยกัน 3 ข้าง แต่ถึงจะได้รับการปลูกถ่ายไตใหม่สำเร็จ ก็ยังจัดว่าเป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระดับ 3 ซึ่งนอกจากจะต้องมีวินัยในการกินยากดภูมิคุ้มกัน ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดตลอดชีวิต ยังต้องดูแลสุขภาพและใส่ใจเรื่องโภชนาการ เพื่อรักษาประสิทธิภาพการทำงานของไตใหม่ให้ใช้งานได้นานที่สุด โดยปกติไตใหม่จะมีอายุการใช้งานประมาณ 10-15 ปี แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอายุนานถึง 20-30 ปี ปัจจัยที่ส่งผลต่ออายุการใช้งานของไตใหม่ ขึ้นอยู่กับชนิดของไตที่ได้รับ หากได้รับไตจากผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเดียวกัน ย่อมมีโอกาสจะใช้งานได้ยาวนานกว่า นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับวินัยในการกินยากดภูมิคุ้มกันให้ตรงเวลา และรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงการดูแลตัวเองของผู้ป่วย ซึ่งจะต้องมาพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ”
นพ.ปรัชญา ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการปลูกถ่ายไตเป็นวิธีที่ภาครัฐและโรงพยาบาลให้การสนับสนุน โดยผู้ป่วยสัญชาติไทยสามารถเข้ารับการรักษาโดยใช้สิทธิการรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ, ประกันสังคม และประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งครอบคลุมสิทธิในการปลูกถ่ายไต อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของจำนวนโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยให้สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายไต ยังมีเพียง 30 กว่าแห่ง และไตสำหรับการปลูกถ่ายมีจำกัด บวกกับความกลัวของผู้ป่วยที่ไม่ต้องการเข้ารับการผ่าตัด และคนไทยยังกังวลว่าหากให้สมาชิกในครอบครัวบริจาคไต จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว จึงทำให้ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตราว 10% เท่านั้น
ดังนั้น นอกจากจะเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปลูกถ่ายไต โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ยังได้ขยายขอบเขตการให้บริการจากโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง มาสู่การให้บริการโรคที่มีความซับซ้อนอื่นๆ รวมถึงการผ่าตัดปลูกถ่ายไต โดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้รับการรับรองเป็นโรงพยาบาลสมาชิกของศูนย์บริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย และสามารถให้บริการผ่าตัดปลูกถ่ายไตและดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังมีทีมสหวิชาชีพที่พร้อมดูแลและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการผ่าตัดอีกด้วย
ด้านนางสาวพัชร์จิรณัฐ เย็นสบาย นักกำหนดอาหาร งานโภชนาการ รพ.จุฬาภรณ์ เสริมถึงบทบาทของนักกำหนดอาหารในการช่วยดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตอย่างน่าสนใจว่า นักกำหนดอาหารจะเข้ามาช่วยประเมินภาวะโภชนาการของผู้ป่วยก่อนและหลังการปลูกถ่ายไต เพื่อวางแผนการบริโภคอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย และแนะนำว่าอาหารชนิดไหนควรรับประทานและหลีกเลี่ยง เช่น ในช่วงหลังการปลูกถ่ายไต
จะแนะนำให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียจากอาหาร แต่เมื่อร่างกายเริ่มปรับตัวได้ จะให้รับประทานอาหารประเภท Healthy Diet หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล โซเดียมสูง พร้อมกันนี้ยังมีส่วนช่วยปรับแผนโภชนาการตามความจำเป็น เพื่อให้ไตที่ปลูกถ่ายใหม่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ขณะที่นางสาวชวัลกร ภู่เจนจบ ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตรายแรกของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ตรวจพบว่าเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 เมื่อปลายปี พ.ศ. 2566 โดยมีอาการบ่งชี้ คือ ปวดหัว อาเจียน และความดันโลหิตสูง ในช่วงแรกแพทย์รักษาตามอาการ ต่อมาเมื่อเริ่มมีอาการน้ำท่วมปอด การทำงานของไตลดลงจาก 20% เหลือ 5% จึงเข้าสู่กระบวนการฟอกไตเป็นเวลา 4 เดือน ก่อนเข้ารับการปลูกถ่ายไต โดยใช้ไตที่ได้รับบริจาคจากน้องสาว หลังการปลูกถ่ายไต เธอรู้สึกเหมือนได้กลับมามีชีวิตปกติอีกครั้ง และเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต จากที่เคยกินแต่ฟาสต์ฟู้ด น้ำหวานและน้ำอัดลม หันมากินอาหารตามคำแนะนำของนักกำหนดอาหาร และ มาพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ
ศูนย์โรคไต โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตทั้งในแบบระยะสั้นและระยะยาวอย่างครบครันด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมชนิดพิเศษ แก่ผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยมีทีมบุคลากรซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์ผู้เฉพาะทางด้านโรคไต ทำงานร่วมกับโภชนากร เภสัชกร และพยาบาล ในการประเมินการทำงานของระบบไต เพื่อช่วยการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ และล่าสุดคือการให้บริการปลูกถ่ายไตด้วยเทคโนโลยีการปลูกถ่ายไต ทั้งจากผู้บริจาคที่มีชีวิตและผู้บริจาคสมองตาย โดยเปิดเป็นศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะและเนื้อเยื่อ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งสำหรับผู้ป่วยสัญชาติไทยที่เข้ารับการปลูกถ่ายไต จะได้รับการดูแลครอบคลุมทุกสิทธิ์การรักษา และสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการปลูกถ่ายไตกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จะได้รับการดูแลตรวจติดตามอาการของทั้งผู้ป่วยและผู้บริจาคไตไปตลอดชีวิต ติดต่อสอบถามนัดหมายรับคำปรึกษา โทรศัพท์ และไลน์ 064-2054929